• มะเร็งกับโภชนาบำบัด

    ร่างกายของคนเราต้องการอาหารเพื่อนำไปบำรุงร่างกายให้แข็งแรง แต่ว่าอาหารนั้นก็มีหลากหลายชนิด ซึ่งบางอย่างก็มีประโยชน์กับเราอย่างมากมาย...

  • การตวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง

    เป็นวิธีการง่ายๆ ที่คุณผู้หญิงสามารถตรวจสอบ มะเร็งเต้านม ได้ด้วยตัวเอง โดยทุกท่าจะต้องบิดลำตัวไปทั้งทางซ้ายและขวาเพื่อที่จะสามารถสังเกตุ...

  • มะเร็งเต้านม [Breast cancer]

    มะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย โดยพบมากเป็นอันดับ 2 รองจาก มะเร็งปากมดลูกl...

  • มารู้จักกับมะเร็งชนิดต่างๆกันดีกว่า

    มะเร็งนั้นเกิดขึ้นได้ในหลายๆจุดของร่างกาย จนเรียกว่าแทบจะทุกส่วนเลยทีเดียว ซึ่งแต่ละจุดนั้นก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป...

  • มารู้จักกับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง Lymphoma

    มะเร็งชนิดนี้ถือว่าเป็นมะเร็งที่อันตรายชนิดหนึ่งเลยทีเดียว เพราะ อาจจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นและลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ...

เสียภรรยาไปเพราะโรคมะเร็งปากมดลูก

0 ความคิดเห็น
          วันนี้ผมขอเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียภรรยาไปด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวัย 65 ปี เขาคือ คุณคมคาย – อนันต์ อาณาวิริศ เล่าว่า ในขณะที่ภรรยายังมีชีวิตอยู่นั้นคุณคมคายได้อุทิศทั้งกายและใจปรนนิบัติดูแลภรรยาตลอดเวลา 24 ชั่วโมงนานกว่า 11 เดือน จนถึงวาระสุดท้ายของภรรยา

ประสบการณ์เสียภรรยาด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก

          คุณอิ่มภรรยาป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก อัลไซเมอร์ และหัวใจ แค่เฉพาะค่ารักษามะเร็งเดือนหนึ่งต้องเสียค่ารักษาพยาบาลกว่า 300,000 บาท รวมค่ารักษาทุกโรคเบ็ดเสร็จก็เกือบๆ 10 ล้านบาท เพราะรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน อยากให้ภรรยาหายเป็นปกติไว้ แต่สุดท้ายกลับทำได้เพียงยื้อชีวิตไว้ได้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น

          “ระหว่างที่รักษาทั้งครอบครัวช่วยกันดูแลควบคู่กับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำทุกวันคือ ทำกับข้าวให้ทาน นวดตัว ร้องเพลงให้ฟัง และชวนกันสวดมนต์”

          สำหรับการนวดตัวนั้นคุณคมคายนวดเน้นที่บริเวณแขน แผ่นหลัง ขาและเท้า ประมาณ 15-30 นาที เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด เสมือนเป็นการบอกให้ภรรยาได้รับรู้ว่าเรารักและเป็นห่วงเขาอยู่เสมอ ส่วนลูกๆ จะคอยผลัดกันมานวดหรือสวดมนต์ให้ฟังในวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนั้น คุณคมคายยังให้ญาติที่เป็นนักกำหนดอาหารวิชาชีพช่วยแนะนำเรื่องอาหารการกิน

          คุณคมคายเล่าต่ออีกว่า “ทั้งบ้านกินแต่ข้าวกล้อง ผักสดที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ทำน้ำเต้าหู้ดื่มเอง และพยายามเลิกใช้สารเคมีอันตรายทุกชนิด เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ ผกซักฟอก เป็นต้น เพราะคิดว่าร่างกายของคุณอิ่มอ่อนแอมาก ทั้งจากการผ่าตัดและเคมีบำบัด ควรใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สะอาด และปลอดภัยมากกว่า”

ประสบการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก

          ด้วยความรักและใส่ใจอย่างละเอียดอ่อน คุณคมคายอาบน้ำ เช็ดตัว คอยป้อนข้าว จัดยาให้คุณอิ่มด้วยตัวเองทุกวัน และเพื่อไม่ให้คุณอิ่มเครียดจากการเผชิญ 3 โรคร้ายในคราวเดียว คุณคมคายถึงกับแอบไปเรียนร้องเพลง เพื่อที่จะได้ร้องเพลงไทยเดิมเพราะๆ ให้คุณอิ่มได้ฟังยามบ่ายและก่อนสวดมนต์เข้านอน

          “ลูกๆ จะคอยเปิดเพลงบรรเลงให้คุณอิ่มฟัง แต่ผมคิดว่าอย่างมากก็ฟังผ่านๆ หู แต่ถ้าคุณอิ่มได้ฟังจากปากคนร้องสดๆ คงจะได้รับความบันเทิงมากกว่า และเป็นจริงดังที่คาด เพราะแม้ขณะที่คุณอิ่มอ่อนเพลียจนลุกเดินไม่ไหว ยังหัวเราะไปกับเพลงเพี้ยนๆได้”

          ถึงแม้ว่าคุณอิ่มจะจากโลกนี้ไปแล้วแต่เชื่อเหลือเกินว่าความประทับเหล่านี้จะยังคงอยู่ตราบนานเท่านาน จากประสบการณ์ที่ได้นำมาเล่าให้ผู้อ่านฟังทำให้เห็นอย่างหนึ่งได้อย่างชัดเจนเลย คือ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่จะทำให้ผู้ป่วยนั้นมีความสุข และมีกำลังใจที่สู้กับโรคมะเร็งปากมดลูก ถึงแม้ร่างกายจะอ่อนแรง แต่ถ้าพลังใจเรามีอย่างล้นหลามยังไงก็สู้ไหวครับ

คุณสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ โรคมะเร็งปากมดลูกได้ที่นี่เลย
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก www.cancer.gov , www.cheewajit.com


Read More »

7 วิธี Fight!! มะเร็งเต้านม

5 ความคิดเห็น
          หลังจากที่คนไข้รู้ตัวแล้วว่าเป็นมะเร็งเต้านม ก็จะเริ่มหาวิธีการต่างๆ ในการต่อสู้กับมะเร็งเต้านมนี้ ด้วยวิธีการหลักๆ ก็จะเป็นการผ่าตัดเต้านมและการรังสีรักษาหรือการฉายแสงนั้นเอง แต่ยังมีวิธีการรักษามะเร็งเต้านมแบบอื่นๆอีกหลายวิธี แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอเจ้าของไข้ด้วยว่าวิธีการไหนที่เหมาะสมที่สุดต่อการรักษา โดยดูจากผลชิ้นเนื้อจากการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา โดยมีรายละเอียดดังนี้

7 วิธี Fight!! มะเร็งเต้านม

     1.การผ่าตัด : เป็นวิธีที่ค่อนข้างนิยมมากในปัจจุบันร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสามารถผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้อและเนื้อเยื่อรอบๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากมะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง อาจจะต้องใช้วิธีรังสีรักษา เคมีบำบัด หรือวิธีอื่นๆ ควบคู่กันไป
    2.รังสีรักษา : หรือที่รู้จักดีว่าการฉายแสง ส่วนใหญ่จะใช้ควบคู่หลังการผ่าตัด 2-4 สัปดาห์ เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจจะหลงเหลืออยู่บริเวณต่อมน้ำเหลืองหรือที่เต้านม ลดการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านม และใช้เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้ ในกรณีที่สภาพร่างกายไม่พร้อมหรือเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย
     3.เคมีบำบัด : หรือที่คุ้นหูว่าการให้คีโม ใช้ในกรณีที่มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ไหปลาร้า กระดูก ปอด หรือสมอง หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งก่อนหมดประจำเดือนและไม่มีตัวรับสัญญาณฮอร์โมน
     4.ฮอร์โมนบำบัด : วิธีการนี้จะใช้ร่วมกับการผ่าตัด รังสีรักษาและเคมีบำบัด หรือใช้สำหรับมะเร็งระยะสุดท้ายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะรับการรักษาด้วยวิธีการนี้ได้ในกรณีที่มีตัวรับสัญญาณฮอร์โมนที่ก้อนมะเร็ง โดยแพทย์จะให้ยาต้านฮอร์โมนในร่างกายไม่ให้ไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของมะเร็ง
     5.ภูมิต้านทานบำบัด : เป็นการกำจัดก้อนมะเร็งเต้านมโดยใช้ภูมิต้านทานจากทั้งภายนอกและภายในร่างกาย อาจใช้ในกรณีที่มะเร็งดื้อต่อเคมีบำบัดและฮอร์โมนบำบัด เนื่องจากมียีนกลายพันธุ์ที่กระตุ้นการสร้างมะเร็ง
     6.การรักษาที่เป้าหมายของการเกิดมะเร็ง (Targeted Therapy) : โดยให้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วย ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ว่าผู้ป่วยสามารถรับยาได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันนี้ยาที่ใช้ยังคงมีราคาสูงมาก
     7.ชีวบำบัด : การให้สารเพิ่มภูมิต้านทานเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง นิยมใช้คู่กับเคมีบำบัด หรือใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

7 วิธีรักษามะเร็งเต้านม

          ทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณ Fight!! กับมะเร็งเต้านมแต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าคุณเหมาะกับวิธีการรักษาแบบใด และที่ทุกคนต้องรู้คือ การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวจะมีผลข้างเคียงทางร่างกาย เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ขาหรือแขนบวม ผมร่วง เป็นต้น ผู้ป่วยทุกคนควรศึกษาข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อให้คุณสามารถสู้กับมะเร็งร้ายได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด


Read More »

ประสบการณ์จริงของผู้พิชิตมะเร็งเต้านม

1 ความคิดเห็น
ใครบอกว่า โรคมะเร็งเต้านม รักษาไม่ได้ เป็นแล้วตายอย่างเดียว ผมขอบอกเลยครับว่าไม่เป็นความจริง เรามาอ่านประสบการณ์ตรงของผู้หญิงคนนี้ครับ

คุณแข-ขนิษฐา พิศพุ่ม อายุ 40 ปี อดีตข้าราชการระดับ 8 ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งคุณแขมีเพื่อนเป็นหมอ บอกให้คลำเต้านมทุกครั้งเป็นประจำ แต่ไม่เคยทำตามเลย คุณแขได้เล่าว่า


"วันหนึ่ง อยู่ดีๆ คุณแม่บอกว่าให้พาไปตรวจสุขภาพ เลยไปตรวจพร้อมกับคุณแม่ปรากฏว่าพบมะเร็งเต้านมก้อนขนาด 6 เซนติเมตร วินาทีที่รู้นั้นไม่ได้กลัวตาย แต่เป็นห่วงคุณแม่กับลูกๆ สองคน เพราะคุณพ่อกับสามีเสียชีวิตไปแล้ว แขบอกคุณหมอว่าจะทำทุกวิธีเพื่อให้มีชีวิตอยู่กับครอบครัวให้นานที่สุด"

คุณแขเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้งสองข้าง จากนั้นรักษาต่อด้วยการฉายแสง ขณะนี้ผ่านมาแล้วสองครั้ง

"คุณแขเข้ารับการรักษาครั้งที่ 1 รู้เลยว่าร่างกายอ่อนแอกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด เพราะผลข้างเคียงทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย แล้วไม่ได้เป็นแค่วันเดียว เป็นนานกว่า 20 วันค่ะ แถมมีอาการเหนื่อยล้า หอบง่าย และเวียนศีรษะด้วย"

"เมื่อฉายรังสีรักษาครั้งที่สอง ผิวบริเวณที่ฉายแสงไหม้เป็นแถบ กลายเป็นสีคล้ำช้ำเลือด ช้ำหนอง รู้สึกปวดแสบปวดร้อน ทรมานและท้อใจแทบจะทนต่อไม่ไหว เพราะเหน็ดเหนื่อยกับผลข้างเคียงมาก คุณภาพชีวิตตกลงเรื่อยๆ ไหนจะค่ารักษาพยาบาลที่แพงเอามากๆ"

"ถึงจะท้ออย่างไร แต่คุณแขก็ได้รับกำลังใจจากคุณแม่และลูกๆ ซึ่งคุณแม่บอกว่าค่ารักษาพยาบาลหาเมื่อไรก็ได้ ตราบใดที่ยังมีแรง และเมื่อฟังดังนั้นคุณแขจึงตัดสินใจสู้สุดชีวิต ปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดทุกข้อ พร้อมกับปรับวิถีชีวิต โดยมากินอาหารสุขภาพ เช่น ถั่ว เต้าหู้ ข้าวกล้อง ผลไม้"


"คุณแขเล่าต่อว่า ระหว่างที่เข้ารับการฉายรังสีรักษา ปฏิวัติตนเองใหม่หมด คือ ให้แพทย์แผนปัจจุบันช่วย และดูแลตัวเองแบบธรรมชาติด้วย โดยนอนตั้งแต่สองทุ่ม ตื่นตีห้าพร้อมคุณแม่และลูกๆ ทุกวัน เพื่อเดินออกกำลังกายหน้าบ้านประมาณ 30-45 นาที ให้พอมีเหงื่อ ปอดได้รับออกซิเจนเต็มที่ และช่วยปลุกร่างกายให้กระฉับกระเฉง คิดเสียว่าผลข้างเคียงจากการเข้ารับรังสีรักษาไม่ได้อยู่กับแขนาน"

"นอกจากนั้น คุณแขยังทำกิจกรรมบำบัดโดยการปลูกผักสวนครัวในกระบะเล็ก บริเวณระเบียงบ้าน เช่น คะน้า ตำลึง พริกขี้หนู เป็นต้น เพื่อนำผักเหล่านั้นที่ปลอดสารพิษมาปรุงอาหาร"

"คุณแขเล่าอีกว่า คุณแม่ของแขประเสริฐยิ่งนัก จะคอยคั้นน้ำผัก ผลไม้ให้ดื่มก่อนกินข้าววันละ 3 ครั้ง มีแอปเปิ้ล แครอท กวางตุ้ง แตงโม และแก้วมังกร สลับกันไป หากวันไหนไม่ได้ไปโรงพยาบาล ช่วงบ่ายๆ แขกับคุณแม่จะผลัดกันนวดตัวค่ะ นวดธรรมดาๆ ไม่มีแบบแผนอะไร แต่พลังแห่งการสัมผัสด้วยความรักนี้มหัศจรรย์เหลือเกิน แขคิดว่าตัวเองหายวันหายคืนเลยละค่ะ"

"ขั้นตอนสำคัญซึ่งลืมไม่ได้ ก่อนนอนแขจะต้องสวดมนต์และภาวนาให้มะเร็งหาย โดยบอกลูกๆ เสมอว่า จะกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงอีกครั้ง และเหมือนปาฏิหาริย์ เพราะทุกวันนี้แขต่อสู้กับมะเร็งเต้านม จนโรคพ่ายแพ้ไปแล้ว"

บอกได้คำเดียวว่า กำลังใจ จากบุคคลในครอบครัว และบุคคลใกล้ตัว พลังใจของตัวเองที่ต้องการจะมีชีวิตอยู่และต่อสู้กับมะเร็งนั้นสำคัญจริงๆ แต่ถึงกระนั้น คุณแขก็จะต้องดูแลสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอนะครับ เพื่อป้องกันการกลับมาของมะเร็งเต้านมอีก ขอบคุณสำหรับกำลังใจดีๆ ที่มอบให้ผู้อ่านทุกท่านครับ


Read More »

8 สัญญาณเตือนภัยมะเร็งรังไข่

1 ความคิดเห็น
          หลังจากที่ได้เล่าประสบการณ์ของผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยมะเร็งรังไข่แล้ว ก็จะเห็นว่าก่อนที่เราจะรู้ว่าเป็นมะเร็งนั้นก็จะมีอาการผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หากเราไม่ใส่ใจหรือคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดากินยาเดี๊ยวก็หายก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งในระยะที่เกินจะเยียวยาแล้วก็ได้

          วันนี้ผมมี 8 สัญญาณเตือนภัยมะเร็งรังไข่ มาฝากผู้อ่าน เพราะกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้คุณผู้หญิงรอดพ้นจากมะเร็งรังไข่ได้นั้น คือ การตรวจพบในระยะแรกๆ ซึ่งผู้หญิงสามารถสังเกตอาการผิดปกติได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุขโข สูติ-นรีแพทย์และหัวหน้าแผนกสูติกรรม โรงพยาบาลพิจิตร ได้แนะนำวิธีสังเกตอาการของมะเร็งรังไข่ไว้ในหนังสือชุดโรคภัยใกล้ตัว ต้านมะเร็งรังไข่ ดังต่อไปนี้
เบื่ออาหารสัญญาณเตือนมะเร็งรังไข่

     1.เบื่ออาหารหรืออิ่มเร็ว เพราะมะเร็งเป็นก้อนขนาดใหญ่อยู่ในรังไข่ จึงไปกดทับกระเพาะอาหาร ลำไส้ และมะเร็งผลิตน้ำออกมาในช่องท้อง

     2.ท้องโตขึ้น ท้องน้อยนูนขึ้น ลักษณะคล้ายคนท้องหรือมีพุง แม้ว่าจะกินน้อย เพราะมะเร็งเป็นก้อนขนาดใหญ่อยู่ในรังไข่ หรือมะเร็งรังไข่ผลิตน้ำออกมาในช่องท้อง

     3.ปวดท้องน้อย ท้องอืด จุกเสียด หรือปวดทั่วท้องเป็นประจำ

     4.ปัสสาวะผิดปกติ มีอาการแสบขัดบ่อยครั้ง และรู้สึกปัสสาวะไม่สุด เพราะก้อนมะเร็งรังไข่ไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ

     5.ปวดหลังมาก ในบางคนอาจจะมีอาการปวดจนเดินหรือนั่งไม่ไหว เพราะมะเร็งรังไข่ไปรบกวนการทำงานของเส้นประสาทบริเวณหลัง

     6.ท้องผูกเรื้อรัง ขับถ่ายไม่สะดวก จนทำให้ตัวร้อนคล้ายเป็นไข้ เพราะมะเร็งรังไข่ไปกดทับลำไส้ใหญ่หรือกระจายไปยังลำไส้
ปวดท้องสัญญาณเตือนมะเร็งรังไข่

     7.ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือมาครั้งละมากๆ เป็นเวลานาน เพราะเจ้ามะเร็งจะสร้างฮอร์โมนเพศไปรบกวนการทำงานของรังไข่

     8.หากเป็นมะเร็งรังไข่นานมากๆ จะเกิดอาการอ่อนเพลียรุนแรง ตัวซีด หลายใจหอบเหนื่อย เจ็บในอก ตาเหลือง ตัวเหลือง และมีอาการผิดปกติอื่นๆ แล้วแต่พื้นฐานสุขภาพของผู้ป่วย
นี้ก็เป็นข้อสังเกตหลักๆ ของผู้ที่อาจจะเข้าข่ายเป็นมะเร็งรังไข่ ซึ่งผู้หญิงควรสังเกตอาการผิดปกติเหล่านี้อย่างละเอียด และหากพบอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย เพราะการตรวจพบมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งชนิดอื่นๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ และเข้ารับการรักษาในทันที จะช่วยให้ผู้ป่วยร้อยละ 90 มีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 5 ปี หลังเข้ารับการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์

          แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยร้อยละ 80 เมื่อมาพบแพทย์ก็จะพบมะเร็งในระยะหลังๆ หรือลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ แล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะบอกว่า มีอาการผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ จึงไม่ได้ใส่ใจ ทานยาแล้วหายก็คงไม่มีอะไร

          แต่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านทุกท่านที่ได้อ่านทราบว่า ต่อให้มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งตามนี้ ไม่ว่าจะเป็นมากเป็นน้อยก็ตามทางที่ดีไปพบแพทย์ดีกว่าครับ จากประสบการณ์ตรงของผมเอง


Read More »

แค่ปวดท้องที่ไหนได้กลายเป็นมะเร็งรังไข่

2 ความคิดเห็น
          วันนี้ผมมีเรื่องที่เกิดขึ้นจริงของผู้ป่วยมะเร็งมาเล่าให้ผู้อ่านได้อ่านกันนะครับ เพราะปัจจุบันโรคมะเร็งไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องราวของคุณเอ๋ย นักศึกษาสาววัย 20 ปี ผู้ที่ต้องคอยดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ ได้เล่าให้ฟังว่า


          "ประมาณสองปีที่แล้ว คุณแม่นั้นป่วยท้องอยู่บ่อยครั้ง (อันนี้เหมือนกับของแม่แฟนผมเลยครับอาการปวดท้องนี่ละครับที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก) แน่นและอึดอัดท้องมากๆ ซึ่งมีอาการคล้ายกับมีแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ ทั้งๆ ที่คุณแม่รู้สึกเบื่ออาหาร กินข้าวไม่ได้ แต่ท้องน้อยกลับโตขึ้นเรื่อยๆ และมีอาการซึมเศร้าด้วย"

          "หลังจากนั้นคุณแม่ก็อาการแย่ลงเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง เป็นไข้หนาวๆ ร้อนๆ ตลอดเวลา แต่ก็คิดว่าเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากภาวะหมดประจำเดือน เลยไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เอ๋ยทนเห็นแม่เป็นอย่างนี้ไม่ไหว เพราะสภาพร่างกายของคุณแม่ตอนนี้แย่สุดๆ เอ๋ยจึงพาคุณแม่ไปโรงพยาบาล และก็ตรวจพบ มะเร็งรังไข่ ระยะที่ 1c คือ เซลล์มะเร็งอยู่ในรังไข่ทั้งสองข้าง และกระจายมาที่บริเวณผิวรังไข่ข้างซ้ายค่ะ"

          ระหว่างที่ตรวจพบและรอการรักษา คุณแม่ก็มีอาการเพิ่มขึ้น คือ มีอาการปวดหลังแทบเดินไม่ไหวและถ่ายปัสสาวะทุกๆ 30 นาที เพราะก้อนมะเร็งไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ

          "คุณหมอรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับการทำเคมีบำบัดค่ะ เอ๋ยเห็นคุณแม่ซูบผอมลงไปมากเพราะเสียเลือด น้ำหนักลด ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ขับถ่ายไม่ปกติ และกินอาหารไม่ได้ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาค่ะ"

ผมในฐานะเป็นบุคคลหนึ่งที่เคยดูแลคุณแม่และคอยต่อสู้กับโรคมะเร็งร้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ของเอ๋ยได้ฟื้นตัวเร็ววันเร็วคืน ขอให้คุณแม่หายไวๆ นะครับ มะเร็งยิ่งตรวจพบเจอเร็วเท่าไร ยิ่งมีโอกาสในการรักษาสูงขึ้นเท่านั้น


Read More »

เผยผลวิจัยพบบุหรี่ก่อมะเร็งชนิดใหม่ 5 ชนิด

2 ความคิดเห็น
บุหรี่ก่อมะเร็งใหม่ 5 ชนิด


หลายต่อหลายคนก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าบุหรี่นั้นเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งหลายชนิดด้วยกัน แต่ปัจจุบันกลับยังมีการสูบบุหรี่กันอย่างแพร่หลาย ถึงมีหลายๆ หน่วยงานรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ พร้อมทั้งอธิบายถึงโทษต่างๆ ของบุหรี่ ก็ไม่ได้ผลตอบรับเท่าที่ควร วันนี้ผมจึงขอเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับโทษของบุหรี่เสียหน่อย นั้นก็คือ บุหรี่ก่อมะเร็งใหม่ 5 ชนิด

          ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า มีรายงานของนักวิทยาศาสตร์ 30 คน จาก 10 ประเทศ ที่จัดโดยสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติไอเออาร์ซี ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัย เพื่อทบทวนข้อมูลมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งชนิดใหม่ 5 ชนิด ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับในเด็กที่พ่อแม่สูบบุหรี่ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กที่พ่อสูบบุหรี่ก่อนการตั้งครรภ์ของแม่เด็ก

          ในส่วนของการได้รับควันบุหรี่มือสอง มะเร็งที่ได้รับการประกาศเพิ่มเติม คือ มะเร็งลำคอและกล่องเสียง โดยมะเร็งที่ได้รับการประกาศว่าเป็นผลจากการสูบบุหรี่ก่อนรายงานนี้มี 10 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอและกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหารส่วนต้น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งปากมดลูก ขณะที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ประกาศว่า ร้อยละ 35 ของมะเร็งทั้งหมดเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่มือสอง และในปี 2547 มีชายไทยเสียชีวิตจากมะเร็งที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 13,434 คน คิดเป็น 31% ของการเสียชีวิตจากมะเร็งในชายไทย และมีหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 2,885 คน คิดเป็น 8.8% ของการตายจากมะเร็งในหญิงไทย เป็นผลจากการสูบบุหรี่ สาเหตุมาจากการที่หญิงไทยสูบบุหรี่น้อยกว่าชายไทย รู้อย่างนี้แล้วคุณยังจะสูบบุหรี่อยู่อีกหรือไม่ ?

Read More »

มะเร็งปากมดลูกใครๆ ก็ป้องกันได้

4 ความคิดเห็น
มะเร็งปากมดลูกใครๆ ก็ป้องกันได้


          ผมเชื่อว่าสังคมไทยในปัจจุบันกำลังตื่นตัวกันเป็นอย่างมากในเรื่องของโรคมะเร็ง เพราะเรามีตัวอย่างให้เห็นได้อย่างชัดเจนของนักร้อง ดารา ที่ต้องประสบพบเจอกับโรคมะเร็งนี้  แต่วันนี้ผมจะขอพูดเกี่ยวกับมะเร็งที่เกิดขึ้นในผู้หญิงโดยเฉพาะนั้นก็คือ “มะเร็งปากมดลูก”

          มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย ซึ่งรองมาจากมะเร็งเต้านม ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปีจะมีผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกประมาณ 10,000 คน หรือวันละ 27 คน และในแต่ละปีมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 5,200 คน หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ ร้อยละ 80 เลยทีเดียว มะเร็งปากมดลูกพบในผู้หญิงช่วงอายุ 30-60 ปี บางคนก็เป็นคุณแม่ของลูกน้อยวัยน่ารักถึงช่วงวัยรุ่น บางคนก็มีลูกที่กำลังทำงาน สร้างครอบครัว หากเกิดมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งของครอบครัวจะเกิดอะไรขึ้นลองคิดดู


ทำไมมะเร็งปากมดลูกจึงป้องกันได้ไม่ยาก ?

          มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่แตกต่างจากมะเร็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย  เพราะสามารถป้องกันได้จริงๆ และสามารถทำให้ไม่เป็นได้เลย  ด้วยเหตุผล 4 ข้อ คือ “รู้ตัวก่อการ – ใช้เวลานานก่อนเป็น – มีระยะก่อนมะเร็งนำมา – นานาวิธีป้องกัน” เรามาดูรายละเอียดแบบเป็นข้อ ๆ เลยดีกว่าจะได้ชัดเจน

ตัวก่อการหรือสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

          มะเร็งหลายชนิดยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว ฯลฯ แต่มะเร็งบางชนิดเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น มะเร็งตับ อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับจากการกินอาหารสุกๆดิบๆ การกินสารพิษอัลฟาท็อกซินจากเชื้อราดำในขนมปัง ถั่วลิสง ฯลฯ และสารพิษอื่นๆในอาหาร เป็นต้น แต่มะเร็งปากมดลูก ทางการแพทย์พิสูจน์ทราบสาเหตุแน่นอนแล้วว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอย่างเดียวโดดๆ ที่ชื่อ ฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส ( Human Papillomavirus) เรียกย่อ ๆ ว่า “HPV” เชื้อไวรัสนี้ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อไวรัสนี้ที่อวัยวะเพศ ดังนั้นแนวทางการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสนี้หลายท่านน่าจะเข้าใจอยู่แล้ว คงไม่ถึงกับต้องงดการทำกิจกรรมทางเพศ แต่ควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น มีคู่นอนคนเดียว หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย ใช้ถุงยางอนามัย และที่สำคัญแฟนของเราหรือสามีนั้นจะต้องมีคู่นอนคือ ตัวเราเองคนเดียวเท่านั้นอีกด้วย เป็นต้น

มะเร็งปากมดลูกใช้เวลานานก่อนจะเป็น แล้วนานเท่าไร ?

           ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ HPV จนกระทั่งเป็นมะเร็งปากมดลูกใช้เวลานาน 10-20 ปี ขึ้นกับศักยภาพในการก่อมะเร็ง หรือความดุร้ายของเชื้อ HPV และภูมิต้านทานของปากมดลูก แต่มะเร็งอีกหลายหลายชนิดที่เรายังไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่าใช้ระยะเวลานานเท่าไรตั้งแต่ได้รับสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย อาจจะใช้เวลานานนับปีหรือไม่นานเพียงแค่ไม่กี่เดือน ทางการแพทย์ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้เลย แต่การที่มะเร็งปากมดลูกใช้เวลาก่อโรคนาน 10-20 ปี ทำให้มีเวลาเหลือเฟือที่จะป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรองเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกหรือระยะก่อตัว
           แต่ปัจจุบันที่ยอดผู้ป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกยังคงสูงอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นเพราะคุณผู้หญิงที่มีความเสี่ยงส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรวจคัดกรองกัน และอัตราการครอบคลุมของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยค่อนข้างต่ำมากไม่ถึงร้อยละ 20 ประเทศที่มีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกต่ำจะมีอัตราการครอบคลุมของการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยร้อยละ 80 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่าตกใจเป็นอย่างมาก

ระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกคืออะไร

          นับว่าโชคดีอย่างหนึ่งที่มะเร็งปากมดลูกนอกจากจะใช้เวลานาน 10-20 ปีกว่าจะเป็นมะเร็งแล้ว ยังมีความผิดปกติในระยะก่อนมะเร็งด้วยที่เรียกว่า “รอยโรคก่อนมะเร็ง” หรือ “รอยโรคก่อนระยะลุกลาม” ความผิดปกติในระยะนี้จะเป็นอยู่นาน 5-10 ปี กว่าจะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามเริ่มแรก การที่มะเร็งปากมดลูกใช้เวลานานก่อนเป็นและมีระยะก่อนมะเร็งนำมา ทำให้สามารถป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรองเป็นระยะ ๆ ทุก 1-2 ปี หรือ ทุก 3-5 ปี ก็ได้(แต่ถ้าจะให้ดีตรวจทุกปีไปเลยแน่นอนที่สุด) การตรวจคัดกรองมีจุดประสงค์ เพื่อตรวจให้พบความผิดปกติตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง เพื่อที่จะได้ให้การรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง เปรียบเสมือนเป็นการตัดตอนหรือตัดไฟแต่ต้นลม มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งรังไข่ มะเร็งปอด ฯลฯ ยังไม่มีระยะก่อนมะเร็งให้ได้ตรวจคัดกรอง ถ้าตรวจพบก้อนเนื้องอกหรือมีอาการก็มักจะเป็นมะเร็งแล้ว


นานาวิธีป้องกันของมะเร็งปากมดลูกมีอะไรบ้าง?

การป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้หลากหลายวิธี โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ
           1. ระดับปฐมภูมิหรือระดับตัดต้นตอ คือ การป้องกันไม่ให้ปากมดลูกติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นตัวต้นเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก การป้องกันในระดับนี้มีหลายวิธี เช่น
- การลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV โดยการมีคู่นอนเพียงคนเดียว และถ้าคู่นอนมีคู่นอนคนเดียวด้วยก็จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น
- การไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ก็ช่วยลดความเสี่ยงนี้ด้วยเช่นกัน
- การฉีดวัคซีนเอชพีวี (HPV vaccine) เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ ก็จัดว่าเป็นการป้องกันในระดับนี้เช่นกัน เพราะภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ จะออกจากกระแสเลือดเข้ามาในมูกและสารคัดหลั่งของปากมดลูกและช่องคลอดทำให้เชื้อจะไม่สามารถเข้ามาติดเชื้อที่ปากมดลูกได้ แต่เนื่องจากวัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกเฉพาะที่เกิดจาก เชื้อ HPVสายพันธุ์ 16 และ 18 เท่านั้น ทั้ง 2 สายพันธุ์เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณร้อยละ 70-75 ดังนั้นยังมีเชื้อ HPV อีกร้อยละ 25-30 ที่การฉีดวัคซีนยังไม่สามารถป้องกันได้ การฉีดวัคซีนควบคู่กับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอจะทำให้การป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น

           2. ระดับทุติยภูมิหรือระดับตรวจคัดกรอง คือ การตรวจคัดกรองเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่ปากมดลูกเพื่อให้การรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก การป้องกันในระดับนี้มีหลายวิธีเช่นกัน เช่น
         - การตรวจหาเชื้อไวรัส HPVที่ก่อปากมดลูก เป็นการตรวจหาตัวการที่สำคัญของมะเร็งปากมดลูก โดยอาศัยหลักการว่า “ ถ้าไม่มีเชื้อ จะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก” ( no HPV, no cervical cancer) การตรวจยังค่าใช้จ่ายสูงอยู่ในปัจจุบัน แต่มีความแม่นยำสูงมาก ถ้าตรวจไม่พบเชื้อ HPV สามารถเว้นระยะห่างของการตรวจคัดกรองได้นานถึง 3-5 ปี เพราะการตรวจมีความแม่นยำในการบอกว่าไม่เป็นมะเร็งสูงถึงร้อยละ99-100 ถ้ามีความผิดปกติในระยะก่อนมะเร็งที่ปากมดลูก การตรวจมักจะให้ผลบวกเพราะการตรวจมีความแม่นยำในการตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งสูงถึงร้อยละ 95-100
         - การตรวจเซลล์ของปากมดลูกที่เรียกว่า แพพสเมียร์(Pap smear) ในปัจจุบันการตรวจมีทั้งแบบมาตรฐาน (conventional Pap smear) ซึ่งจะใช้ไม้ป้ายเซลล์ตัวอย่างจากปากมดลูกลงบนแผ่นกระจกโดยตรง และแบบแผ่นบาง (thin layer) ซึ่งจะเก็บเซลล์เยื่อบุปากมดลูกที่กวาดได้ทั้งหมดไว้ในขวดน้ำยารักษาสภาพเซลล์ก่อนแล้วจึงดูดขึ้นมาย้อมบนแผ่นกระจกแบบหลังนี้ทำให้ความผิดพลาดและความคลาดเคลื่อนในการอ่านแปลผลลดลง ความแม่นยำในการตรวจคัดกรองสูงขึ้น
         - การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชูหรือ visual inspection with acetic acid ที่เรียกย่อๆว่า VIA ก็สามารถใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน การตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือทราบผลทันที ถ้าตรวจพบความผิดปกติในระยะก่อนมะเร็งก็สามารถให้การรักษาโดยการจี้ด้วยความเย็นได้ทันที

         จะเห็นว่ามะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ไม่ยาก ขอเพียงพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อ HPV ซึ่งทราบแล้วว่ามาจากการมีเพศสัมพันธ์ มะเร็งปากมดลูกจึงถือว่าเป็นมะเร็งที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย (safe sex) ดังที่กล่าวข้างต้นจะช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้อย่างมาก การฉีดวัคซีน HPV จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้อีกประมาณร้อยละ 70-75 นอกจากนี้แล้วการมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอก็ยังช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อีกขั้นหนึ่ง ไม่ว่ามะเร็งจะเกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ใดก็ตาม การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอย่อมตรวจพบได้ก่อนที่จะเป็นมะเร็ง

          จึงอยากให้ผู้หญิงทุกคนจำคำเหล่านี้ไว้ คือ “รู้ตัวก่อการ ใช้เวลานานก่อนเป็น มีระยะก่อนมะเร็งนำมา นานาวิธีป้องกัน”

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.tgcsthai.com


Read More »