มะเร็งปอด "Lung Cancer"
โรคมะเร็งปอด
มะเร็งปอด ข้อมูลทางการแพทย์ได้แบ่งการเกิดโรคนี้ 2 แบบตามลักษณะทางพยาธิวิทยา (กลไกการเกิดของโรค) มีดังนี้
1. มะเร็งที่เกิดจากเนื้อปอดเอง (Primary Lung Cancer) เป็นมะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อของปอด มีการแบ่งชนิด(subtype)ตามลักษณะทางพยาธิวิทยาออกเป็น
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (non small cell carcinoma-NSCC) พบมากที่สุดในผู้ป่วยชาวไทยร้อยละ 80 แบ่งชนิดออกไปตามลักษณะที่ตรวจพบจากชิ้นเนื้อได้อีก เป็น Adenocarcinoma, Squamous Cell Carcinoma (ซึ่งแพทย์มักเขียนในใบส่งตรวจของแพทย์ถึงชนิดของเซลล์มะเร็งชนิดนี้ว่า SCC )
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer - SCLC) พบได้ร้อยละ 20 ของมะเร็งปอด ส่วนใหญ่ร้อยละ 99 เกิดจากการสูบบุหรี่ มีลักษณะการเป็นที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและแพร่กระจาย (Aggressive behavior and rapid growth)ซึ่งตรงข้ามกับชื่อ เพราะขนาดของเซลล์ที่มีขนาดเล็กกว่า จึงสามารถสร้างความเสียหายได้มากกว่าและรักษายาก มักมีอาการที่รุนแรง รักษาแทบไม่ได้แล้ว หากไม่ได้ตรวจพบและรักษาแต่เนิ่นๆ บางทีกว่าที่จะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอดชนิดนี้ ก็อาจเสียชีวิตลงก่อน เพราะผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้เฉลี่ยเพียงแค่ 2 - 4 เดือน
2. มะเร็งปอดที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น (Metastatic Lung Cancer) ปอดเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเหมือนฟองน้ำ และเป็นอวัยวะที่จะมีเลือดส่งมาฟอกจากอวัยวะต่างๆ และมีต่อมน้ำเหลืองมาเลี้ยงมาก ทำให้ปอดมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อมะเร็งมาจากอวัยวะอื่นมาแพร่กระจายได้ เช่น มะเร็งตับ ลำไส้ หรือในเพศหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม ปอดของคนเรานอกจากจะเป็นที่ฟอกเลือดโดยการจับเอาออกซิเจนที่สูดเราหายใจเข้ามาในปอดเพื่อผสมกับเลือดเสียให้เป็นเลือดดีแล้ว ปอดยังเหมือนโรงงานฟอกผสมทั้งของดีของเสียปนเข้าด้วยกันอีกด้วย
ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งที่อวัยวะอื่น อาจต้องตรวจหามะเร็งปอดด้วย ซึ่งแพทย์จะดูจากอาการหรือสัญญาณต่างๆ ของโรคร่วมด้วย ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการแพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่นก็เป็นได้ มะเร็งปอดจึงเปรียบเสมือนมะเร็งที่แถมมาจากมะเร็งที่เป็น “เหตุนำ”
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด
1. บุหรี่สาเหตุการเกิดมะเร็งปอด เป็นที่ทราบกันดีว่า สาเหตุของมะเร็งที่พบได้บ่อย คือ ร่างกายได้รับสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (Carcinogen) อย่างต่อเนื่อง สารเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้กลไกการแบ่งตัวของเนื้อเยื่อให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนที่ผิดปกติขึ้น เซลล์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดก็เช่นเดียวกัน และนอกจากจะเติบโตอย่างรวดเร็วแล้วยังยังลุกลามไปยังอวัยวะอื่นได้อีกด้วย
ปอดเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซดีกับก๊าซเสีย คือนำเอาออกซิเจนไปแทนที่คาร์บอนไดออกไซด์ ให้เกิดการรวมตัวกันกับเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีก๊าซเสียอยู่ แต่ถ้าหากหารสูบบุหรี่ หรือคนที่หายใจเอาควันบุหรี่เข้าปอด (เรียกว่า บุหรี่มือสอง-Second hand smoke) ก็ย่อมทำให้ภาวะเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดเป็น มะเร็งปอด
เนื่องจากในควันบุหรี่จะมีสารประกอบมากมาย และเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogens) มากกว่า 62 ชนิด เช่น น้ำมันดิน สารไฮโดรคาร์บอน ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องจึงมีโอกาสเกิดมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 10 - 20 เท่า
มีข้อมูลจาก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 20 ถึง 30 เท่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนและระยะเวลาที่สูบบุหรี่ และผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่สูดควันบุหรี่จากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือในบริเวณอับที่มีควันบุหรี่อยู่ (Second hand smoke) มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด มากกว่าคนปกติถึง 1.2 ถึง 1.5 เท่า และพ่อที่สูบบุหรี่ขณะที่ลูกอยู่ด้วย ลูกมีโอกาสป่วยเป็นหอบหืดถึงร้อยละ 20 - 40 ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ชนิดใด ๆ ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งนั้น เพราะเป็นการได้รับสารพิษเช่นเดียวกันกับผู้สูบบุหรี่ด้วย
ในขณะเดียวกัน ผู้ที่รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อม (second-hand smokers) ก็ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลที่ไม่สูบบุหรี่โดยตรงอย่างชัดเจน เช่น ภรรยาที่อยู่กับสามีที่สูบบุหรี่ พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากขึ้นร้อยละ 24 หรือผู้ที่อยู่ในที่แวดล้อมไปด้วยควันบุหรี่ยังจะมีโอกาสเกิดมะเร็งปอดมากขึ้นเช่นกัน
ที่ รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา วัยรุ่นมีการตื่นตัวต่ออันตรายของบุหรี่จากคนรอบข้าง (Second Hand Smoke) ได้มีการรณรงค์เรียกร้องให้หยุดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะกันมากขึ้น จึงทำให้ภาวการณ์ติดบุหรี่ของเด็กวัยรุ่นมีจำนวนน้อยลง และเราก็เชื่อว่านั่นจะเป็นเหตุให้มะเร็งปอดลดลงด้วย
ที่เมืองไทย การสูบบุหรี่น่าจะยังเป็นปัญหาสำคัญในการเกิดมะเร็งปอดของคนไทย โดยชายไทยมากกว่าร้อยละ 90 ที่เป็นมะเร็งปอด มีประวัติการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ในเพศหญิงพบว่า ร้อยละ 50 มีประวัติสูบบุหรี่ และมีข้อมูลว่า คนไทยสูบบุหรี่มากกว่า 11 ล้านคน โดยร้อยละ 40 ของชายไทยสูบบุหรี่ ส่วนเพศหญิงถึงแม้ว่ามีอัตราการสูบบุหรี่ร้อยละ 2 แต่ก็พบว่าแนวโน้มว่า ปัจจุบันวัยรุ่นทั้งหญิงและชายสูบบุหรี่มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นในช่วงอายุ 12-25 ปี จึงน่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ยังพบว่า ครอบครัวที่มีผู้สูบบุหรี่จะมีลูกที่มีพฤติกรรมติดบุหรี่ในวัยรุ่นได้ถึง 40% และพบว่า เด็กไทยอายุ 13 ปี กว่า 13% มีการสูบบุหรี่ โดยเกือบครึ่งมีผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย (ผลวิจัย ม.มหิดล)
- การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญและเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งปอด
- ผู้สูบบุหรี่โดยเฉลี่ยมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 12 เท่า
- ผู้ที่สูบบุหรี่นานไม่เกิน 20 ปี จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 9 เท่า
- ผู้ที่สูบบุหรี่นานระหว่าง 21-40 ปี มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 30 เท่า
- ผู้ที่สูบบุหรี่นานระหว่าง 41-60 ปี มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 47 เท่า
- ผู้ที่เป็นมะเร็งปอดร้อยละ 80 จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี
- ผู้ที่ต้องดูดควันบุหรี่ของคนอื่น เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งด้วย
ประโยชน์ของการหยุดบุหรี่
- ถ้าผู้สูบบุหรี่ สามารถหยุดบุหรี่ได้ทัน ก่อนที่ปอดจะได้รับความเสียหายอย่างถาวร โอกาสของการเกิดโรคมะเร็งปอดจะลดลงทันที
- ผู้สูบบุหรี่ สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้นาน 10-15 ปี จะลดอัตราเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดได้ครึ่งหนึ่ง
- สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งปอดแล้ว การเลิกสูบบุหรี่จะทำให้อาการดีขึ้น และอยู่ได้นานขึ้นกว่าผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่ต่อไป
2. แร่ใยหิน (Asbestos หรือ สารใยหิน)
"แร่ใยหิน" หรือ "แอสเบสทอส" (Asbestos) ก็ถือเป็นหนึ่งในภัยใกล้ตัวที่คนไทยน้อยคนนักที่จะรู้จักถึงพิษภัยของมัน ที่สามารถคร่าชีวิตของคนเราได้ หากสูดหายใจเอาแร่ใยหินเข้าไปสะสมในร่างกายเป็นปริมาณมาก ที่บอกว่าเป็นภัยใกล้ตัวก็เนื่องจาก ว่า "แร่ใยหิน" ได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทซีเมนต์ อุตสาหกรรมผ้าเบรก ผ้าคลัตช์ อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าป้องกันไฟหรือความร้อน อุตสาหกรรมกระดาษอัด และอุตสาหกรรมประเภทพลาสติกที่มีแอสเบสทอสเป็นส่วนประกอบ ฯลฯ
ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่คนไทยได้ใช้กันอยู่ บ่อย ๆ ก็คือ กระเบื้องมุงหลังคาแบบลอนลูกฟูก ท่อระบายน้ำ กระเบื้องปูพื้น ฝ้าเพดาน ฝาผนัง ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรก ผ้าคลัตช์รถยนต์ ท่อน้ำร้อน หม้อไอน้ำ พลาสติกขึ้นรูปต่าง ๆ ฯลฯ
ทั้งนี้แร่ใยหิน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ แอมฟิโบล และเซอร์เพนไทน์ โดยกลุ่มแอมฟิโบล ยังแบ่งย่อยออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ ครอซิโดไลท์, อะโมไซท์, ทรีโมไบท์, แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์ ส่วนกลุ่มเซอร์เพนไทน์ ก็ได้แก่ ไครโซไทล์ หรือไวท์ แอสเบสทอส
ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แร่ใยหินเป็นแร่ธรรมชาติ ที่ค้นพบมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี และได้นำเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว โดยมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตวัสดุก่อสร้างต่างๆ เนื่องจากแร่ใยหินมีคุณสมบัติ ทนกรด ทนความร้อน ทนไฟ มีเส้นใยที่แข็ง และเหนียว ยืดหยุ่นได้ดี เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ จะทำให้มีความแข็งแรง ทนทาน ทนความร้อนได้ดี
อย่าง ไรก็ตาม แร่ใยหินแม้จะมีส่วนช่วยให้คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดีขึ้น แต่ก็มีข้อเสียโดยเฉพาะผลกระทบต่อร่างกายคน หากได้รับการสูดดมฝุ่นและละอองของแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกาย จนสะสมในปริมาณที่มากและเป็นเวลานาน 15-30 ปี ก็จะทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับปอด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma) เป็นแร่ธาตุที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค ครัช ฉนวนความร้อน อุตสาหกรรมสิ่งทอ เหมืองแร่
- ผู้ที่เสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้แอสเบสตอส เป็นส่วนประกอบ
- ระยะเวลาที่สัมผัสฝุ่นแอสเบสตอสจนเป็นมะเร็งปอด อาจใช้เวลา 15-35 ปี
- ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ทำงานกับฝุ่นแร่แอสเบสตอส เสี่ยงต่อมะเร็งปอด มากกว่าคนทั่วไป 5 เท่า
3.เรดอน
เป็นก๊าซกัมมันรังสีไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนี่ยมในหินและดิน กระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดินในที่ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในเหมืองใต้ดิน อาจมีปริมาณมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้
4.มลภาวะในอากาศ
ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำำคัญอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมากที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด เพราะมลภาวะทางอากาศนั้นเป็นสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเราตลอดเวลา หากมลภาวะอาอาศรอบข้างตัวเราได้แก่ ควันพิษจากรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะทำให้เรามีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น
อาการของโรคมะเร็งปอด
ซึ่งระยะแรกของโรค จะไม่มีอาการใดๆ บ่งชี้ได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นโรคมะเร็งปอดหรือไม่ เมื่อโรคลุกลามมากแล้วอาการที่อาจพบ ได้แก่- ไอเรื้อรัง \ ไอเป็นเลือด
- หอบเหนื่อย \ เจ็บแน่นหน้าอก
- น้ำหนักลดรวดเร็ว \ เบื่ออาหาร
- กลืนอาหารลำบาก
- เสียงแหบ
- มีก้อนที่คอ (มะเร็งกระจายมาตามต่อมน้ำเหลืองที่คอ)
- ปวดกระดูกซี่โครง ไหปลาร้า ปวดกระดูกสันหลัง (มะเร็งกระจายมากระดูก)
- แขน ขา อ่อนแรง (มะเร็งกระจายไปสมอง)
- ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ อุจจาระได้
โดยอาการดังกล่าวมักเป็นอาการร่วมของโรคต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป
การวินิจฉัยมะเร็งปอด
การวินิจฉัยมะเร็งปอด มะเร็งปอดระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังไม่แสดงอาการหรือมีอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ไอเรื้อรัง บางครั้งอาจมีอาการไอเป็นเลือดเล็กน้อย เนื่องจากยังมีขนาดเล็กอยู่ จึงยังไม่ก่อให้เกิดอาการมากนัก ในระยะนี้สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจภาพรังสีทรวงอก (การเอกซ์เรย์ปอด -CXR)
ดังนั้น ถ้าหากผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของระบบหายใจ (โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด เช่น มีประวัติสูบบุหรี่มานาน หรือมีประวัติรับควันบุหรี่มือสอง) เช่น มีอาการไอต่อเนื่องกันเกิน 3 สัปดาห์โดยไม่มีสาเหตุอื่น หรืออาการไอที่เป็นอยู่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ไอมากขึ้น หรือมีเสมหะปนเลือด หากเป็นเช่นนี้ผู้ป่วยควรไปให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุของอาการเหล่านั้น
หรือจะเรียกว่า ต้องสแกนตนเองก่อนที่จะให้หมอสแกนจะทำให้พบความผิดปกติได้ง่ายกว่า ก็ได้
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า การพยายามค้นหามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกโดยการตรวจร่างกายด้วยเอกซ์เรย์ปอดจะช่วยให้เราพบว่าเป็นมะเร็งได้เร็วขึ้น (ไม่เหมือนการทำ Mammogram เอกซเรย์เต้านมเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม) แต่ถ้าผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงมาก เช่น สูบบุหรี่มาต่อเนื่อง การเอกซ์เรย์ปอดอย่างน้อย 1 ครั้งทุกๆ ปี แม้ว่าความผิดปกติของภาพเอกซ์เรย์ปอดไม่จำเป็นต้องเห็นว่าจะเกิดเป็นมะเร็งปอดเสมอไป แต่ก็จะเป็นประโยชน์ในการสืบค้นเพื่อหาสาเหตุปรียบเทียบความผิดปกติดังกล่าว ใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบภาพเอกซ์เรย์ปอดเดิมกับภาพเอกซ์เรย์ปอดใหม่ เพราะจะทำให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงของรอยโรคที่พบในปอด ดังนั้น ข้อมูลภาพเอกซ์เรย์ปอดจึงมีความสำคัญในการให้การวินิจฉัยของแพทย์เป็นอย่างมาก
![]() |
Courtesy of Birmingham Heartlands Hospital, UK |
นอกจากภาพเอกซ์เรย์ปอดจะช่วยให้การวินิจฉัยมะเร็งปอดเห็นได้ชัดเจนตั้งเริ่มมีอาการผิดปกติของผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะทำร่วมกับการตรวจวินิจฉัยยืนยันจากการตรวจทางพยาธิวิทยา โดยการนำเนื้อเยื่อปอดบริเวณที่มีความผิดปกติมาตรวจ(biopsy) เพื่อยืนยันว่าใช่มะเร็งหรือไม่ เพราะเพียงอาการและภาพเอกซ์เรย์ปอดยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง การตรวจชิ้นเนื้อ(biopsy) จึงมีความจำเป็นมาก และยังช่วยยืนยันว่าเป็นมะเร็งชนิดใด เช่นช่วยบอกว่าเป็น Adenocarcinoma หรือ Squamous Cell Carcinoma เป็นต้น
วิธีการการนำเนื้อเยื่อมาตรวจทำได้ แพทย์อาจใช้การส่องกล้องตรวจหลอดลม การใช้เข็มเจาะ หรือการผ่าตัด หลังจากนั้นก็จะมีการประเมินเพิ่มเติมว่า ขณะนั้นผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของโรค (Staging) ด้วยการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซ์เรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT scan) โดยการเปรียบเทียบกับภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปกติกับภาพที่ฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูขอบเขตและการแพร่กระจายของโรค หรือทำการตรวจกระดูก (PET scan) ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการดูแลรักษาที่เหมาะสม
- ถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- ตรวจเสมหะที่ไอออกมาเพื่อหาเซลล์มะเร็ง (Sputum Cytology)
- ส่องกล้องตรวจดูภายในหลอดลม (Bronchoscopy)
- ขลิบชิ้นเนื้อจากหลอดลมหรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า ไปตรวจเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา (Biopsy, Scalene node biopsy)
การรักษามะเร็งปอด
การรักษามะเร็งปอดจะถูกพิจารณาคล้ายๆ กับโรคมะเร็งส่วนอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายประการ คือ ชนิดของมะเร็งปอด ขอบเขตการกระจายของโรค และสภาพทั่วไปของผู้ป่วย โดยการรักษาหลักของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย คือ การผ่าตัดเอาปอดส่วนที่มีมะเร็งออกไป ซึ่งแพทย์จะประเมินก่อนการผ่าตัดว่า ผู้ป่วยมีสมรรถภาพปอดสมบูรณ์เพียงพอที่จะรับการผ่าตัดหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยมีสมรรถภาพปอดที่เพียงพอ การผ่าตัดถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดสูงสุดถึง ร้อยละ 60 - 70 แต่ถ้าไม่สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากโรคมีการกระจายออกไปจนนอกขอบเขตของการผ่าตัด หรือผู้ป่วยไม่มีความพร้อมในการผ่าตัด การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสงก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก มักจะใช้ยาเคมีบำบัดและการฉายรังสีร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของมะเร็งปอดต่อการรักษาด้วยสองวิธีนี้มักไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้ ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นในช่วงแรกเท่านั้น แต่มีโอกาสที่จะกำเริบมากขึ้นในอนาคต ส่วนผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดก็จะคล้ายคลึงกับยารักษามะเร็งส่วนอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดยาที่แพทย์เลือกใช้
นอกจากนี้ปัจจุบันยังมียาชนิดรับประทานที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่กลไกในเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อย ก็เป็นวิธีการรักษาที่อาจจะเหมาะสมกับผู้ป่วยบาง ส่วนการรักษามะเร็งปอดในระยะที่มีการแพร่กระจายของ โรคมะเร็งปอดไปแล้ว คือ การรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) เช่น การให้ยาเพื่อลดอาการปวด การให้ออกซิเจนเพื่อลดอาการเหนื่อย เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด แม้จะไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ก็ตาม
ส่วนการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการดำรงชีวิตอยู่ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน แต่ก็มีรายละเอียดอีกมาก ต้องไว้เล่าต่อในบทความต่อๆไปครับ
สรุปแบบสั้นๆง่ายๆกับแนวทางในการรักษามะเร็งปอด
- การผ่าตัด
- รังสีรักษา
- เคมีบำบัด
- การรักษาแบบผสมผสานวิธีดังกล่าวข้างต้น
- การรักษาแบบประคับประคอง
การป้องกันมะเร็งปอด
- เลิกสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการได้รับมลพิษในสิ่งแวดล้อม
- รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น และอาหารที่มีวตามินซี วิตามินอี รวมทั้งเซเลเนียม เช่น ข้าวซ้อมมือ รำข้าว และออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การดื่มสุรา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้
แหล่งข้อมูล : เรียบเรียงจาก www.healthtoday.net/thailand/disease/diisease_116.html
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=654
www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=968
สนใจผลิตภัณฑ์สารสกัดจากงาดำติดต่อinboxได้เลยนะคะ หรือ idline 0838189290
ตอบลบสารสกัดจากงาดำ เซซามีน ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง การอักเสบของแผลหรือโรค
ตอบลบสารสกัดจากงาดำ เซซามีน ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง การอักเสบของแผลหรือโรค
ตอบลบสนใจผลิตภัณฑ์สารสกัดจากงาดำติดต่อinboxได้เลยนะคะ หรือ idline 0838189290
ตอบลบการรักษาโรคมะเร็งปอด 12 วิธี ! https://medthai.com/มะเร็งปอด/
ตอบลบ