มะเร็งปอด "Lung Cancer"

โรคมะเร็งปอด



มะเร็งปอด ถือว่าเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งของหลอดลมและปอด แต่เป็นชนิดที่ร้ายแรง เริ่มแรกมะเร็งปอดจะเป็นก้อนขนาดเล็ก หากปล่อยไว้ก้อนจะโตขึ้นลุกลามเข้าแทนที่เนื้อปอดปกติ และกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ สมอง กระดูก เป็นต้น เกิดขึ้นเนื่องจากมีสารพิษตกค้างอยู่ในระบบทางเดินหายใจ หรือว่าที่ปอดนั้นเอง


มะเร็งปอด  ข้อมูลทางการแพทย์ได้แบ่งการเกิดโรคนี้ 2 แบบตามลักษณะทางพยาธิวิทยา (กลไกการเกิดของโรค) มีดังนี้

1. มะเร็งที่เกิดจากเนื้อปอดเอง (Primary Lung Cancer)  เป็นมะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อของปอด มีการแบ่งชนิด(subtype)ตามลักษณะทางพยาธิวิทยาออกเป็น

- มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (non small cell carcinoma-NSCC) พบมากที่สุดในผู้ป่วยชาวไทยร้อยละ 80  แบ่งชนิดออกไปตามลักษณะที่ตรวจพบจากชิ้นเนื้อได้อีก เป็น Adenocarcinoma, Squamous Cell Carcinoma  (ซึ่งแพทย์มักเขียนในใบส่งตรวจของแพทย์ถึงชนิดของเซลล์มะเร็งชนิดนี้ว่า SCC )

- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer - SCLC)  พบได้ร้อยละ 20 ของมะเร็งปอด  ส่วนใหญ่ร้อยละ 99 เกิดจากการสูบบุหรี่ มีลักษณะการเป็นที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและแพร่กระจาย (Aggressive behavior and rapid growth)ซึ่งตรงข้ามกับชื่อ เพราะขนาดของเซลล์ที่มีขนาดเล็กกว่า จึงสามารถสร้างความเสียหายได้มากกว่าและรักษายาก   มักมีอาการที่รุนแรง รักษาแทบไม่ได้แล้ว หากไม่ได้ตรวจพบและรักษาแต่เนิ่นๆ บางทีกว่าที่จะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอดชนิดนี้ ก็อาจเสียชีวิตลงก่อน เพราะผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้เฉลี่ยเพียงแค่ 2 - 4 เดือน

2. มะเร็งปอดที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น (Metastatic Lung Cancer) ปอดเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเหมือนฟองน้ำ และเป็นอวัยวะที่จะมีเลือดส่งมาฟอกจากอวัยวะต่างๆ และมีต่อมน้ำเหลืองมาเลี้ยงมาก  ทำให้ปอดมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อมะเร็งมาจากอวัยวะอื่นมาแพร่กระจายได้ เช่น มะเร็งตับ ลำไส้ หรือในเพศหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม ปอดของคนเรานอกจากจะเป็นที่ฟอกเลือดโดยการจับเอาออกซิเจนที่สูดเราหายใจเข้ามาในปอดเพื่อผสมกับเลือดเสียให้เป็นเลือดดีแล้ว ปอดยังเหมือนโรงงานฟอกผสมทั้งของดีของเสียปนเข้าด้วยกันอีกด้วย

ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งที่อวัยวะอื่น อาจต้องตรวจหามะเร็งปอดด้วย ซึ่งแพทย์จะดูจากอาการหรือสัญญาณต่างๆ ของโรคร่วมด้วย ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการแพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่นก็เป็นได้ มะเร็งปอดจึงเปรียบเสมือนมะเร็งที่แถมมาจากมะเร็งที่เป็น “เหตุนำ”



สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด 

1. บุหรี่
     สาเหตุการเกิดมะเร็งปอด  เป็นที่ทราบกันดีว่า สาเหตุของมะเร็งที่พบได้บ่อย คือ ร่างกายได้รับสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (Carcinogen) อย่างต่อเนื่อง  สารเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้กลไกการแบ่งตัวของเนื้อเยื่อให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนที่ผิดปกติขึ้น   เซลล์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดก็เช่นเดียวกัน และนอกจากจะเติบโตอย่างรวดเร็วแล้วยังยังลุกลามไปยังอวัยวะอื่นได้อีกด้วย

     ปอดเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซดีกับก๊าซเสีย คือนำเอาออกซิเจนไปแทนที่คาร์บอนไดออกไซด์ ให้เกิดการรวมตัวกันกับเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีก๊าซเสียอยู่ แต่ถ้าหากหารสูบบุหรี่ หรือคนที่หายใจเอาควันบุหรี่เข้าปอด (เรียกว่า บุหรี่มือสอง-Second hand smoke) ก็ย่อมทำให้ภาวะเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดเป็น มะเร็งปอด

เนื่องจากในควันบุหรี่จะมีสารประกอบมากมาย  และเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogens) มากกว่า 62 ชนิด เช่น น้ำมันดิน สารไฮโดรคาร์บอน ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องจึงมีโอกาสเกิดมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 10 - 20 เท่า

มีข้อมูลจาก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่  20 ถึง 30  เท่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนและระยะเวลาที่สูบบุหรี่ และผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่สูดควันบุหรี่จากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือในบริเวณอับที่มีควันบุหรี่อยู่ (Second hand smoke) มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด มากกว่าคนปกติถึง 1.2 ถึง 1.5 เท่า และพ่อที่สูบบุหรี่ขณะที่ลูกอยู่ด้วย ลูกมีโอกาสป่วยเป็นหอบหืดถึงร้อยละ 20 - 40 ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ชนิดใด ๆ ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งนั้น เพราะเป็นการได้รับสารพิษเช่นเดียวกันกับผู้สูบบุหรี่ด้วย

     ในขณะเดียวกัน ผู้ที่รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อม (second-hand smokers) ก็ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลที่ไม่สูบบุหรี่โดยตรงอย่างชัดเจน เช่น ภรรยาที่อยู่กับสามีที่สูบบุหรี่ พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากขึ้นร้อยละ 24  หรือผู้ที่อยู่ในที่แวดล้อมไปด้วยควันบุหรี่ยังจะมีโอกาสเกิดมะเร็งปอดมากขึ้นเช่นกัน

ที่ รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา วัยรุ่นมีการตื่นตัวต่ออันตรายของบุหรี่จากคนรอบข้าง (Second Hand Smoke) ได้มีการรณรงค์เรียกร้องให้หยุดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะกันมากขึ้น จึงทำให้ภาวการณ์ติดบุหรี่ของเด็กวัยรุ่นมีจำนวนน้อยลง และเราก็เชื่อว่านั่นจะเป็นเหตุให้มะเร็งปอดลดลงด้วย

ที่เมืองไทย การสูบบุหรี่น่าจะยังเป็นปัญหาสำคัญในการเกิดมะเร็งปอดของคนไทย  โดยชายไทยมากกว่าร้อยละ 90 ที่เป็นมะเร็งปอด มีประวัติการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ในเพศหญิงพบว่า  ร้อยละ 50 มีประวัติสูบบุหรี่  และมีข้อมูลว่า คนไทยสูบบุหรี่มากกว่า 11 ล้านคน โดยร้อยละ 40 ของชายไทยสูบบุหรี่ ส่วนเพศหญิงถึงแม้ว่ามีอัตราการสูบบุหรี่ร้อยละ 2 แต่ก็พบว่าแนวโน้มว่า ปัจจุบันวัยรุ่นทั้งหญิงและชายสูบบุหรี่มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นในช่วงอายุ 12-25 ปี จึงน่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ยังพบว่า ครอบครัวที่มีผู้สูบบุหรี่จะมีลูกที่มีพฤติกรรมติดบุหรี่ในวัยรุ่นได้ถึง 40% และพบว่า เด็กไทยอายุ 13 ปี กว่า 13% มีการสูบบุหรี่ โดยเกือบครึ่งมีผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย (ผลวิจัย ม.มหิดล)



  • การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญและเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งปอด
  • ผู้สูบบุหรี่โดยเฉลี่ยมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 12 เท่า
  • ผู้ที่สูบบุหรี่นานไม่เกิน 20 ปี จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 9 เท่า
  • ผู้ที่สูบบุหรี่นานระหว่าง 21-40 ปี มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 30 เท่า
  • ผู้ที่สูบบุหรี่นานระหว่าง 41-60 ปี มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 47 เท่า
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งปอดร้อยละ 80 จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี
  • ผู้ที่ต้องดูดควันบุหรี่ของคนอื่น เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งด้วย

 ประโยชน์ของการหยุดบุหรี่ 

  • ถ้าผู้สูบบุหรี่ สามารถหยุดบุหรี่ได้ทัน ก่อนที่ปอดจะได้รับความเสียหายอย่างถาวร โอกาสของการเกิดโรคมะเร็งปอดจะลดลงทันที
  • ผู้สูบบุหรี่ สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้นาน 10-15 ปี จะลดอัตราเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดได้ครึ่งหนึ่ง
  •  สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งปอดแล้ว การเลิกสูบบุหรี่จะทำให้อาการดีขึ้น และอยู่ได้นานขึ้นกว่าผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่ต่อไป
 
2. แร่ใยหิน (Asbestos หรือ สารใยหิน)
     "แร่ใยหิน" หรือ "แอสเบสทอส" (Asbestos) ก็ถือเป็นหนึ่งในภัยใกล้ตัวที่คนไทยน้อยคนนักที่จะรู้จักถึงพิษภัยของมัน ที่สามารถคร่าชีวิตของคนเราได้ หากสูดหายใจเอาแร่ใยหินเข้าไปสะสมในร่างกายเป็นปริมาณมาก ที่บอกว่าเป็นภัยใกล้ตัวก็เนื่องจาก ว่า "แร่ใยหิน" ได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทซีเมนต์ อุตสาหกรรมผ้าเบรก ผ้าคลัตช์ อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าป้องกันไฟหรือความร้อน อุตสาหกรรมกระดาษอัด และอุตสาหกรรมประเภทพลาสติกที่มีแอสเบสทอสเป็นส่วนประกอบ ฯลฯ
ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่คนไทยได้ใช้กันอยู่ บ่อย ๆ ก็คือ กระเบื้องมุงหลังคาแบบลอนลูกฟูก ท่อระบายน้ำ กระเบื้องปูพื้น ฝ้าเพดาน ฝาผนัง ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรก ผ้าคลัตช์รถยนต์ ท่อน้ำร้อน หม้อไอน้ำ พลาสติกขึ้นรูปต่าง ๆ ฯลฯ

     ทั้งนี้แร่ใยหิน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ แอมฟิโบล และเซอร์เพนไทน์ โดยกลุ่มแอมฟิโบล ยังแบ่งย่อยออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ ครอซิโดไลท์, อะโมไซท์, ทรีโมไบท์, แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์ ส่วนกลุ่มเซอร์เพนไทน์ ก็ได้แก่ ไครโซไทล์ หรือไวท์ แอสเบสทอส

     ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แร่ใยหินเป็นแร่ธรรมชาติ ที่ค้นพบมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี และได้นำเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว โดยมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตวัสดุก่อสร้างต่างๆ เนื่องจากแร่ใยหินมีคุณสมบัติ ทนกรด ทนความร้อน ทนไฟ มีเส้นใยที่แข็ง และเหนียว ยืดหยุ่นได้ดี เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ จะทำให้มีความแข็งแรง ทนทาน ทนความร้อนได้ดี
อย่าง ไรก็ตาม แร่ใยหินแม้จะมีส่วนช่วยให้คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดีขึ้น แต่ก็มีข้อเสียโดยเฉพาะผลกระทบต่อร่างกายคน หากได้รับการสูดดมฝุ่นและละอองของแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกาย จนสะสมในปริมาณที่มากและเป็นเวลานาน 15-30 ปี ก็จะทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับปอด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma) เป็นแร่ธาตุที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค ครัช ฉนวนความร้อน อุตสาหกรรมสิ่งทอ เหมืองแร่

  •  ผู้ที่เสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้แอสเบสตอส เป็นส่วนประกอบ
  •  ระยะเวลาที่สัมผัสฝุ่นแอสเบสตอสจนเป็นมะเร็งปอด อาจใช้เวลา 15-35 ปี
  •  ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ทำงานกับฝุ่นแร่แอสเบสตอส เสี่ยงต่อมะเร็งปอด มากกว่าคนทั่วไป 5 เท่า
 
3.เรดอน
     เป็นก๊าซกัมมันรังสีไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนี่ยมในหินและดิน กระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดินในที่ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในเหมืองใต้ดิน อาจมีปริมาณมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

 
4.มลภาวะในอากาศ

     ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำำคัญอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมากที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด เพราะมลภาวะทางอากาศนั้นเป็นสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเราตลอดเวลา หากมลภาวะอาอาศรอบข้างตัวเราได้แก่ ควันพิษจากรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะทำให้เรามีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น

อาการของโรคมะเร็งปอด 

 ซึ่งระยะแรกของโรค จะไม่มีอาการใดๆ บ่งชี้ได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นโรคมะเร็งปอดหรือไม่ เมื่อโรคลุกลามมากแล้วอาการที่อาจพบ ได้แก่

  • ไอเรื้อรัง \ ไอเป็นเลือด
  • หอบเหนื่อย \ เจ็บแน่นหน้าอก
  • น้ำหนักลดรวดเร็ว \ เบื่ออาหาร
  • กลืนอาหารลำบาก
  • เสียงแหบ
  • มีก้อนที่คอ (มะเร็งกระจายมาตามต่อมน้ำเหลืองที่คอ)
  • ปวดกระดูกซี่โครง ไหปลาร้า ปวดกระดูกสันหลัง (มะเร็งกระจายมากระดูก)
  • แขน ขา อ่อนแรง (มะเร็งกระจายไปสมอง)
  • ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ อุจจาระได้

  โดยอาการดังกล่าวมักเป็นอาการร่วมของโรคต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป

การวินิจฉัยมะเร็งปอด

การวินิจฉัยมะเร็งปอด มะเร็งปอดระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังไม่แสดงอาการหรือมีอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ไอเรื้อรัง บางครั้งอาจมีอาการไอเป็นเลือดเล็กน้อย เนื่องจากยังมีขนาดเล็กอยู่ จึงยังไม่ก่อให้เกิดอาการมากนัก ในระยะนี้สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจภาพรังสีทรวงอก (การเอกซ์เรย์ปอด -CXR)  

ดังนั้น ถ้าหากผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของระบบหายใจ (โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด เช่น มีประวัติสูบบุหรี่มานาน หรือมีประวัติรับควันบุหรี่มือสอง) เช่น มีอาการไอต่อเนื่องกันเกิน 3 สัปดาห์โดยไม่มีสาเหตุอื่น หรืออาการไอที่เป็นอยู่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ไอมากขึ้น หรือมีเสมหะปนเลือด หากเป็นเช่นนี้ผู้ป่วยควรไปให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุของอาการเหล่านั้น

หรือจะเรียกว่า ต้องสแกนตนเองก่อนที่จะให้หมอสแกนจะทำให้พบความผิดปกติได้ง่ายกว่า ก็ได้
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า การพยายามค้นหามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกโดยการตรวจร่างกายด้วยเอกซ์เรย์ปอดจะช่วยให้เราพบว่าเป็นมะเร็งได้เร็วขึ้น (ไม่เหมือนการทำ Mammogram เอกซเรย์เต้านมเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม) แต่ถ้าผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงมาก เช่น  สูบบุหรี่มาต่อเนื่อง   การเอกซ์เรย์ปอดอย่างน้อย 1 ครั้งทุกๆ ปี แม้ว่าความผิดปกติของภาพเอกซ์เรย์ปอดไม่จำเป็นต้องเห็นว่าจะเกิดเป็นมะเร็งปอดเสมอไป แต่ก็จะเป็นประโยชน์ในการสืบค้นเพื่อหาสาเหตุปรียบเทียบความผิดปกติดังกล่าว ใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบภาพเอกซ์เรย์ปอดเดิมกับภาพเอกซ์เรย์ปอดใหม่ เพราะจะทำให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงของรอยโรคที่พบในปอด  ดังนั้น ข้อมูลภาพเอกซ์เรย์ปอดจึงมีความสำคัญในการให้การวินิจฉัยของแพทย์เป็นอย่างมาก

มะเร็งปอด
Courtesy of Birmingham Heartlands Hospital, UK

นอกจากภาพเอกซ์เรย์ปอดจะช่วยให้การวินิจฉัยมะเร็งปอดเห็นได้ชัดเจนตั้งเริ่มมีอาการผิดปกติของผู้ป่วยแล้ว   แพทย์จะทำร่วมกับการตรวจวินิจฉัยยืนยันจากการตรวจทางพยาธิวิทยา โดยการนำเนื้อเยื่อปอดบริเวณที่มีความผิดปกติมาตรวจ(biopsy) เพื่อยืนยันว่าใช่มะเร็งหรือไม่  เพราะเพียงอาการและภาพเอกซ์เรย์ปอดยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง  การตรวจชิ้นเนื้อ(biopsy) จึงมีความจำเป็นมาก และยังช่วยยืนยันว่าเป็นมะเร็งชนิดใด เช่นช่วยบอกว่าเป็น Adenocarcinoma หรือ Squamous Cell Carcinoma  เป็นต้น

วิธีการการนำเนื้อเยื่อมาตรวจทำได้ แพทย์อาจใช้การส่องกล้องตรวจหลอดลม การใช้เข็มเจาะ หรือการผ่าตัด   หลังจากนั้นก็จะมีการประเมินเพิ่มเติมว่า ขณะนั้นผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของโรค (Staging) ด้วยการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซ์เรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT scan) โดยการเปรียบเทียบกับภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปกติกับภาพที่ฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูขอบเขตและการแพร่กระจายของโรค หรือทำการตรวจกระดูก (PET scan) ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการดูแลรักษาที่เหมาะสม

  1.  ถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  2. ตรวจเสมหะที่ไอออกมาเพื่อหาเซลล์มะเร็ง (Sputum Cytology)
  3. ส่องกล้องตรวจดูภายในหลอดลม (Bronchoscopy)
  4. ขลิบชิ้นเนื้อจากหลอดลมหรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า ไปตรวจเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา (Biopsy, Scalene node biopsy)

การรักษามะเร็งปอด

การรักษามะเร็งปอดจะถูกพิจารณาคล้ายๆ กับโรคมะเร็งส่วนอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายประการ คือ ชนิดของมะเร็งปอด ขอบเขตการกระจายของโรค และสภาพทั่วไปของผู้ป่วย โดยการรักษาหลักของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย คือ การผ่าตัดเอาปอดส่วนที่มีมะเร็งออกไป ซึ่งแพทย์จะประเมินก่อนการผ่าตัดว่า ผู้ป่วยมีสมรรถภาพปอดสมบูรณ์เพียงพอที่จะรับการผ่าตัดหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยมีสมรรถภาพปอดที่เพียงพอ การผ่าตัดถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดสูงสุดถึง ร้อยละ 60 - 70 แต่ถ้าไม่สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากโรคมีการกระจายออกไปจนนอกขอบเขตของการผ่าตัด หรือผู้ป่วยไม่มีความพร้อมในการผ่าตัด การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสงก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม


การรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก มักจะใช้ยาเคมีบำบัดและการฉายรังสีร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของมะเร็งปอดต่อการรักษาด้วยสองวิธีนี้มักไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้  ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นในช่วงแรกเท่านั้น แต่มีโอกาสที่จะกำเริบมากขึ้นในอนาคต  ส่วนผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดก็จะคล้ายคลึงกับยารักษามะเร็งส่วนอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดยาที่แพทย์เลือกใช้

นอกจากนี้ปัจจุบันยังมียาชนิดรับประทานที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่กลไกในเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อย ก็เป็นวิธีการรักษาที่อาจจะเหมาะสมกับผู้ป่วยบาง  ส่วนการรักษามะเร็งปอดในระยะที่มีการแพร่กระจายของ โรคมะเร็งปอดไปแล้ว คือ การรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) เช่น การให้ยาเพื่อลดอาการปวด การให้ออกซิเจนเพื่อลดอาการเหนื่อย เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด แม้จะไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ก็ตาม

ส่วนการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการดำรงชีวิตอยู่ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน แต่ก็มีรายละเอียดอีกมาก ต้องไว้เล่าต่อในบทความต่อๆไปครับ

สรุปแบบสั้นๆง่ายๆกับแนวทางในการรักษามะเร็งปอด

  1. การผ่าตัด
  2. รังสีรักษา
  3. เคมีบำบัด
  4. การรักษาแบบผสมผสานวิธีดังกล่าวข้างต้น
  5. การรักษาแบบประคับประคอง

การป้องกันมะเร็งปอด

  1. เลิกสูบบุหรี่
  2. หลีกเลี่ยงการได้รับมลพิษในสิ่งแวดล้อม
  3. รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น และอาหารที่มีวตามินซี วิตามินอี รวมทั้งเซเลเนียม เช่น ข้าวซ้อมมือ รำข้าว และออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด
  4. การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การดื่มสุรา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

 
แหล่งข้อมูล : เรียบเรียงจาก www.healthtoday.net/thailand/disease/diisease_116.html

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=654

www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=968

5 ความคิดเห็น:

  1. สนใจผลิตภัณฑ์สารสกัดจากงาดำติดต่อinboxได้เลยนะคะ หรือ idline 0838189290

    ตอบลบ
  2. สารสกัดจากงาดำ เซซามีน ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง การอักเสบของแผลหรือโรค

    ตอบลบ
  3. สารสกัดจากงาดำ เซซามีน ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง การอักเสบของแผลหรือโรค

    ตอบลบ
  4. สนใจผลิตภัณฑ์สารสกัดจากงาดำติดต่อinboxได้เลยนะคะ หรือ idline 0838189290

    ตอบลบ
  5. การรักษาโรคมะเร็งปอด 12 วิธี ! https://medthai.com/มะเร็งปอด/

    ตอบลบ